WiTcast – episode 9.2 รังนก(ต่อ) / ดราม่าเงินบริจาค / WiT Quiz

แชร์เรื่องนี้ต่อ

กดฟัง WiTcast ตอนที่ 9.2

download ไฟล์ MP3 (คลิกขวา save link as)

PODCAST / iTUNES

สำหรับผู้ที่ใช้ iPhone, ipod ท่านสามารถใช้โปรแกรม iTunes สมัครเป็นสมาชิกรายการให้โหลดเองอัตโนมัติได้ โดยเข้า iTunes store แล้วเสริชหา witcast หรือ subscribe ผ่าน feed นี้โดยตรง http://feeds.feedburner.com/witcast

ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนรายการได้โดยโอนเข้าบัญชี :

ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สะพานควาย
เลขบัญชี 0332935256
ชื่อ แทนไท ประเสริฐกุล

หรือส่งผ่าน paypal มาที่ yeebud@gmail.com

————————————————————-

SHOW NOTE

– รังนก

(แทนไท) อันนี้ความเห็นที่ไม่ได้พูดในรายการนะครับ – โดยส่วนตัว ผมไม่กินรังนกเพียงเพราะรู้สึกเฉยๆ กับรสชาติ แต่ถ้าถามว่ามีทัศนคติอย่างไรกับ “ธุรกิจ” รังนก ผมขอบอกว่ามีทัศนคติในแง่ลบครับ เหตุผลเพราะมันเป็นตัวแทนของหลายสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เช่น ความเชื่อโบราณงมงาย ประเภทว่าอะไรโบราณต้องดีไว้ก่อน เห็นมั้ยเค้ากินกันมาเป็นพันปีจะไม่ดีได้ไง… กับอีกอย่างคือ มันเป็นตัวแทนของการโฆษณาชวนเชื่อเว่อร์เกินจริงของธุรกิจอาหารเสริมทั้งหลาย คือรังนกอาจจะมีสารมีประโยชน์บ้าง แต่งานวิจัยยืนยันยังถือว่าห่างไกลจากความชัดเจน แถมต่อให้มีก็ยังน่าจะเป็นสารที่พบในอาหารอื่นๆ อยู่แล้ว ร่างกายได้รับเพียงพออยู่แล้ว แต่นี่ดันโฆษณาสร้างภาพซะอย่างกับเป็นยาวิเศษสุดยอด คุณค่าคัดสรรสำหรับคนที่คุณรัก โอย…ฟังแล้วอยากถอนขนหัวนม


– ข้อมูลของตัวนกแอ่นกินรัง เชิญที่บล็อกนี้ครับ เขียนเล่าไว้เยอะมากโดยนักวิจัยผู้ศึกษาจริงไรจริง (อ.ศุภลักษณ์ วิรัชพินทุ) แถมเล่าแบบน่ารักด้วย

– บทความวิชาการ Characterization of the edible bird’s nest the “Caviar of the East”1,2 -ให้ข้อมูลพื้นฐานเยอะมาก รวมทั้งเรื่องวิเคราะห์องค์ประกอบรังนกขาว vs. รังนก “เลือด” ซึ่งไม่มีจริง มีแต่รังนกสีแดงที่เกิดจากแร่ธาตุผนังถ้ำซึมเข้าผสมกับรัง ไม่ได้เกิดจากแม่นกโดนขโมยรังจนขากเป็นเลือดอย่างที่คนชอบพูดๆ กันนะฮ้า

– สารเจือปนที่นิยมนำมาทำรังนกปลอม

ประเด็น รังนกแท้ 100% vs 1% และคุณค่าทางโภชนาการที่เทียบต้องกิน 30 ขวดถึงจะเท่าไข่ 1 ฟอง1,2,3,4,5,6,7,8
ดราม่ารังนกใน pantip1,2,3,4,5,6,7


[youtube http://www.youtube.com/watch?v=AF53ReXTcmU] [youtube http://www.youtube.com/watch?v=EqhE5Tw7iRM] [youtube http://www.youtube.com/watch?v=ibuMuDXGmT0] [youtube http://www.youtube.com/watch?v=t7bC86wX43A]

ตัวอย่างข่าวดราม่ารังนกแนวการเมืองท้องถิ่น-ขัดแย้งผลประโยชน์ 1,2,3,4

บทความจาก Nat Geo – ธุรกิจสีเทาของรังนก ติดตามเส้นทางเดินอันผาดโผนของรังนก จากเถื่อนถ้ำสู่ภัตตาคารหรู

– ประเด็นสรรพคุณ หรืองานวิจัยเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ที่อาจจะมีประโยชน์

ผมรู้แค่งูๆ ปลาๆ ใครมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ช่วยกันวิเคราะห์ได้นะครับ

1. ฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งเซล (ผิวหนัง, เยื่อบุต่างๆ, หรือเซลภูมิคุ้มกันเช่นเม็ดเลือดขาว)

(Ng et al. 1986) Potentiation of mitogenic response by extracts of the swiftlet’s (Collocalia) nest.

สรุปสั้นๆ

  • สารสกัดรังนกทำให้เซลเม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อสารกระตุ้นการแบ่งเซลได้ดีขึ้น

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ทดลองในหลอดแก้ว
  • ใช้รังนกสกัด ไม่เหมือนที่เรากิน
  • อ่านดีๆ จะเห็นคำว่า “potentiation” คือตัวรังนกเองไม่ได้ช่วยกระตุ้นโดยตรง แต่ช่วยให้เซลตอบสนองต่อสารกระตุ้นอย่างอื่นดีขึ้น สารที่ว่า (lectins) ได้จากพวกถั่วอีกที
  • เทียบระหว่างเสริมรังนกกับไม่เสริมรังนก แต่ไม่ได้เทียบระหว่างเสริมรังนกกับเสริมอย่างอื่น
  • effect เยอะน้อยขนาดไหนไม่แน่ใจ เพราะอ่านได้แต่ abstract

 

(Kong et al. 1987) Evidence that epidermal growth factor is present in swiftlet’s (Collocalia) nest

สรุปสั้นๆ

  • สามารถสกัดสารที่คล้าย Epidermal Growth Factor (EGF) จากรังนก
  • แสดงให้ดูว่าสารนี้ช่วยเสริมการดูดซึม Thymidine (ตัว T ในรหัสพันธุกรรม ATCG) เข้าสู่เซล fibroblasts (เซลที่สร้างเส้นใยคอลลาเจนในเนื้อเยื่อประสานของผิวหนัง รวมทั้งเยื่อบุภายในต่างๆ)
  • เทียบคุณสมบัติแล้วใกล้เคียงกับ EGF ที่สกัดได้จากหนู

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ทดลองในหลอดแก้ว
  • ใช้รังนกสกัด ไม่เหมือนที่เรากิน
  • EGF ถ้ากระตุ้นการแบ่งเซลมากไปสามารถก่อมะเร็งได้เหมือนกัน
  • effect เยอะน้อยขนาดไหนไม่แน่ใจ เพราะอ่านได้แต่ abstract
  • EGF ในน้ำลายกับน้ำย่อยเราก็มีอยู่แล้ว + ในนมก็มีอยู่แล้ว

 

(Kong et al. 1989) Potentiation of mito-genic response by extracts of the swiftlet’s (Apus) nest collected from Huai-Ji

สรุปสั้นๆ

  • เหมือน (Kong 1987) ยกเว้นสกัดจากรังนกอีกชนิดนึง
  • โชว์ให้ดูด้วยว่าสารสกัดสามารถกระตุ้นการแบ่งเซลเม็ดเลือดขาว lymphocyte รวมทั้งสามารถ potentiate มันให้ตอบสนองต่อสารกระตุ้นการแบ่งเซลอื่นๆ ดีขึ้น

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ทดลองในหลอดแก้ว
  • ใช้รังนกสกัด ไม่เหมือนที่เรากิน
  • EGF ถ้ากระตุ้นการแบ่งเซลมากไปสามารถก่อมะเร็งได้เหมือนกัน
  • effect เยอะขนาดไหนไม่แน่ใจ เพราะอ่านได้แต่ abstract
  • EGF ในน้ำลายกับน้ำย่อยเราก็มีอยู่แล้ว + ในนมก็มีอยู่แล้ว

 

(Aswir and Nazaimoon 2011) Effect of edible bird’s nest on cell proliferation and tumor necrosis factor- alpha (TNF-α ) release in vitro

สรุปสั้นๆ

  • สนใจน้ำตาล 3 ตัวที่พบในรังนก N-acetylneuraminic acid (Sialic acid), N-acetylglucosamine (GlcNAc) และ N-acetylgalactosamine (GalNAc)
  • เอาเฉพาะสาร 3 ตัวนี้เพียวๆ มาทดลองกระตุ้นการแบ่งเซลเยื่อบุผนังลำไส้ ปรากฏว่ายิ่งใส่เข้มข้นมากก็ยิ่งแบ่งเซลมาก แต่ GlcNAc กับ GalNAc ถ้าใส่มากเกินระดับหนึ่งผลจะลดลง และถ้ามากกว่านั้นอีกอาจกลายเป็นยับยั้งแทน

  • พอเอารังนกจริงมาทดลองแบบเดียวกัน ปรากฏว่าบางยี่ห้อก็ได้ผลมาก บางยี่ห้อก็ได้ผลน้อย (รังนกผ่านการย่อยด้วยกรดและผ่านการต้มที่ 80%)

  • ต่อมาเอาสาร 3 ตัวใส่เซล แล้วดูการผลิต TNF-alpha ในเซล ซึ่งยิ่งสูงยิ่งเชื่อมโยงกับโรคอักเสบต่างๆ ผลปรากฏว่า GlcNAc ช่วยลดการผลิต TNF-alpha ได้ แต่ถ้ามากไปเอ็ฟเฟ็คเริ่มกลับทิศ ส่วน Sialic acid กับ GalNAc ไม่ค่อยช่วย และยิ่งใส่มากยิ่งกลายเป็นเพิ่มการผลิต TNF-alpha

  • พอทดลองกับรังนกจริง ปรากฏว่าบางยี่ห้อก็ช่วยลดการผลิต TNF-alpha แต่บางยี่ห้อกลับยิ่งเพิ่ม

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ทดลองในหลอดแก้ว
  • เทียบระหว่างเสริมรังนกกับไม่เสริมรังนก แต่ไม่ได้เทียบระหว่างรังนกกับอย่างอื่น
  • ผลจากรังนกแต่ละยี่ห้อแต่ละแหล่งออกมาไม่เหมือนกัน
  • สารพวกนี้พบได้ในอาหารอื่นๆ อยู่แล้ว ไข่ก็มี อาหารทะเล กุ้ง หอย ปู หมึก ก็มี เห็ดก็มี ถั่ว ผักผลไม้ก็มี ตัวอย่าง – 1,2

 

(Kyung-Baeg Roh 2012) Mechanisms of Edible Bird’s Nest Extract-Induced Proliferation of Human Adipose-Derived Stem Cells อันนี้ซับซ้อนมาก ยังไม่มีเวลาอ่าน ดูคร่าวๆ ไม่มั่นใจว่าเขาพยายามจะพิสูจน์ประโยชน์จากการกินรังนกเหรือเปล่า หรือกะจะเอารังนกไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงเสต็มเซลเฉยๆ

 

(Zainal et al. 2011) Effects of edible bird’s nest (EBN) on cultured rabbit corneal keratocytes.

สรุปสั้นๆ

  • ใช้สารสกัดรังนกกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลกระจกตากระต่ายในหลอดทดลอง
  • ตั้งใจจะประยุกต์ใช้ช่วยสมานแผลที่เกิดกับกระจกตา

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ไม่น่าจะเกี่ยวกับประโยชน์จากการกินรังนก ถ้าจะเอาไปใช้คงทำเป็นยาหยอดตามากกว่า
  • คำถามเดิม แล้วฤทธิ์นี้จำเป็นต้องได้จากรังนกหรือ? อาหารหรือวัตถุดิบอื่นๆ ล่ะ?

 

2. ฤทธิ์บำรุงกระดูก กระดูกอ่อน ข้อต่อ ผิวหนัง

(Matsukawa 2011) Improvement of bone strength and dermal thickness due to dietary edible bird’s nest extract in ovariectomized rats.

สรุปสั้นๆ

  • ใช้หนูที่ผ่าตัดรังไข่ออกเป็นตัวแทนหญิงวัยหมดประจำเดือน หลังเสริมรังนกปรากฏว่ากระดูกแข็งแรงขึ้น และผิวหนังหนาขึ้น
  • มุ่งสนใจที่สารชื่อ glycosaminoglycans (GAG) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกระดูก เอ็น ผิวหนัง

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ใช้รังนกสกัด ไม่เหมือนที่เรากิน
  • เห็นผลแต่ค่อนข้างน้อย
  • เทียบระหว่างเสริมรังนกกับไม่เสริมรังนก แต่ไม่ได้เทียบระหว่างเสริมรังนกกับเสริมอย่างอื่น
  • GAG พบในอาหารอื่นๆ ได้อีกมากมายเช่นเนื้อสัตว์ เอ็น ซุปต้มกระดูก ฯลฯ

3.ฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อโรค

(Guo et al. 2006) Edible bird’s nest extract inhibits influenza virus infection

สรุปสั้นๆ

  • สารสกัดรังนกสามารถจับตัวกับไวรัสไข้หวัดได้
  • สามารถ “neutralize” (ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร) เซลที่ติดเชื้อไข้หวัดได้
  • สามารถยับยั้งการจับตัวของเชื้อไวรัสไข้หวัดกับเม็ดเลือดแดงได้
  • มุ่งสนใจไปที่สาร sialic acid

วิจารณ์/ ข้อกังขา

  • ทดลองในหลอดแก้ว
  • ใช้รังนกสกัด ไม่เหมือนที่เรากิน
  • Sialic acid พบในอาหารอื่นๆ เช่นไข่ไก่
  • ไวรัสไข้หวัดปกติติดเชื้อที่ผนังปอด ไม่แน่ใจว่าการกินสารสกัดจะส่งฤทธิ์ไปถึงปอดรึเปล่า

———————————————–

งานวิจัยเรื่องการแพ้รังนก

รังนกมีสารที่ทำให้แพ้ได้ (อาการ anaphylaxis) อาจเป็นสารแบบเดียวกับพวกกลูโคซามีนในอาหารทะเล (กุ้ง ปู) หรืออาจเป็นโปรตีนขนาดใหญ่แบบเดียวกับที่พบในไข่ขาว ซึ่งก็ทำให้แพ้ได้เหมือนกัน

ที่สิงคโปร์ มีรายงานพบการแพ้รังนกในเด็กเยอะ โดยพบมากกว่าแพ้อาหารทะเลเสียอีก

(Goh et al. 2000) Edible “bird’s nest”–induced anaphylaxis: An under-recognized entity?

(Goh et al. 1999) Pattern of food-induced anaphylaxis in children of an Asian community

(Goh et al. 2001) Immunochemical characterization of edible bird’s nest allergens

(Thong et al. 2007) Immediate food hypersensitivity among adults attending a clinical immunology/allergy centre in Singapore.

(Hon et al. 2006) Dietary restriction and supplementation in children with atopic eczema.

(Kemp et al. 2010) Childhood Food Allergy: A Singaporean Perspective

———————————————————-

(Ma & Liu 2012) Sketch of the edible bird’s nest and its important bioactivities -อันนี้ รีวิวล่าสุด ที่สรุปรวมทุกอย่าง

———————————————————-

WiT Quizzz… ไว้มาลงต่อครับ