Podcast: Play in new window | Download (Duration: 2:06:22 — 58.1MB)
Subscribe: Google Podcasts | Spotify | RSS | More
WiTThai ตอนนี้เปลี่ยนบรรยากาศจากสัมภาษณ์ผู้วิจัยโดยตรง เป็นสามพิธีกร WiTcast เล่ากันเอง แถมยังรวมงานวิจัยสกว.หลากหลายสาขาไว้ในตอนเดียว
แทนไท ประเสริฐกุล เล่างานวิจัยของศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และคณะ ซึ่งสำรวจความหลากหลายของหอยทากบกในเมืองไทยจนค้นพบสายพันธุ์ใหม่มากมาย ตลอดจนสามารถนำเมือกของหอยทากหลายชนิดมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางซึ่งมีคุณภาพไม่แพ้ของต่างประเทศ
ป๋องแป๋งเล่าเรื่องเทคโนโลยีควอนตัมดอท หรืออะตอมประดิษฐ์ และการนำไปประยุกต์ใช้ทำโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นงานวิจัยโดย ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาบันเล่างานวิจัยด้านโบราณคดี ว่าด้วยการนำความรู้ด้านสัตววิทยามาประยุกต์ใช้ในการศึกษากระดูกสัตว์โบราณ ซึ่งบ่งบอกได้ถึงพฤติกรรมการล่าและการกินของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณอำเภอปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นโครงการวิจัยโดยนายอนุสรณ์ อำพันธ์ศรี ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
SHOW TRANSCRIPT
[บทหนึ่งจากหนังสือ WiTThai เล่ม 2]
สั่งซื้อได้ทาง facebook.com/witcastthailand
หอยทากไทยกับต้นไม้แห่งชีวิต
นวัตกรรม ความหมาย ความงาม
แทนไท : ยินดีตอนรับเข้าสู่รายการ WiTThai ครับ วันนี้รายการเราจะมีความแตกต่างกับตอนที่ผ่านๆ มาเล็กน้อย คือโดยปกติเราจะเดินทางไปทั่วแคว้นแดนดินของประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์นักวิจัยและให้พวกเขาได้เล่าถึงงานที่ตัวเองทำ แต่ในวันนี้ เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ผมจะเป็นคนเล่างานวิจัยให้ทุกท่านฟังเองครับ!
ป๋องแป๋ง : เห เรื่องอะไรครับเนี่ย
แทนไท : เรื่องหอยทากครับ เป็นงานวิจัยของปรมาจารย์ด้านหอยทากของประเทศไทย ผู้มีนามว่าศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้ศึกษาและสำรวจความหลากหลายของหอยทากบกมาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี และล่าสุดงานวิจัยของอาจารย์ก็ได้รับรางวัลงานวิจัยเด่นของสกว. ประจำปี พ. ศ. 2558 อีกด้วย
อาบัน : โอ้ว
แทนไท: แน่นอนหอยทากเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมากมายหลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่สาวๆ อย่างอาบันต้องสนใจแน่นอน ก็คือในวงการเครื่องสำอางทุกวันนี้มักมีการเอาเมือกหอยทากมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
อาบัน : ใช่ๆ
ป๋องแป๋ง :เอ๊ะ ผมเคยเห็นที่มีการเอาหอยทากมาไต่หน้าโดยตรงด้วยนะครับ
แทนไท : แบบนั้นมันสดไปหรือเปล่า
ป๋องแป๋ง : แต่มันมีจริงๆนะพี่
อาบัน : ใช่ๆ มีจริง คือมีคนคิดว่าจะมาสกัดเมือกหอยทากทำไม น่าจะใช้สดๆ แบบออร์แกนิกไปเลยดีกว่า ก็เลยเอาหอยทากมาเดินบนหน้าแล้วให้มันทิ้งเมือกไว้เป็นทาง
ป๋องแป๋ง : แต่ผมรู้สึกว่าไม่ชอบให้หอยมาไต่หน้าน่ะครับ จริงๆ เอาตัวอะไรมาไต่หน้าผมก็ไม่ชอบทั้งนั้น จะเป็นมด เป็นแมว อะไรก็ไม่ชอบ ยิ่งหอยนี่ยิ่งไม่ชอบ
แทนไท : ป๋องแป๋งไม่ชอบให้หอยมาโดนหน้า
ป๋องแป๋ง : ไม่ชอบ
แทนไท : ครับ… กลับมาที่งานวิจัยของอ.สมศักดิ์ ปัญหา คืออาจารย์เริ่มเห็นว่าเมืองนอกเขามีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเมือกหอยทากกันมากมาย เลยคิดว่า เอ จริงๆ แล้วหอยที่พบในบ้านเราก็น่าจะเอามาสกัดเมือกทำแบบนั้นได้บ้างนะ ซึ่งหลังจากทดลองศึกษาแล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ปรากฏว่าเมือกหอยบ้านเรามีคุณภาพดีมาก ดีกว่าหอยเมืองนอกเสียอีก… แต่ก่อนจะเล่าไปถึงจุดนั้นเนี่ย อยากจะขอเท้าความเรื่องน่ารู้ต่างๆ เกี่ยวกับหอยก่อน อย่างอาบันรู้ไหม ผู้ศึกษาหอยเนี่ย ภาษาวิชาการเขาเรียกว่าอะไร
อาบัน : นักหอยวิทยา
ป๋องแป๋ง : เดี๋ยวนะ ภาษาไทยใช่มั้ยพี่
แทนไท : ภาษาไทยหรือบาลี-สันสกฤต เหมือนวิชาศึกษานก เขาก็เรียก “ปักษีวิทยา” อะไรทำนองนี้
ป๋องแป๋ง : อ๋อ อย่างปลาก็เรียก “มีนวิทยา” แต่เออ ศึกษาหอยนี่เรียกอะไรหว่า
อาบัน : กาบวิทยา
แทนไท : ไม่ใช่ ที่จริงมันเป็นคำที่เราคุ้นเคยนะ ถ้าเฉลยมาจะร้อง อุ้ยตาย
ป๋องแป๋ง : เฉลยเลยได้ไหมพี่
อาบัน : ตลับวิทยา
แทนไท : สังขวิทยา
ป๋องแป๋ง : อ๋อ เหมือนชื่อหอยสังข์
แทนไท : ใช่เลย ทีนี้สิ่งที่น่าสนใจต่อมาก็คือ ในวิชาสังขวิทยา เราพบว่าหอยเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายสุดยอดมาก ยังไม่ต้องนับหอยสองฝา เอาแค่หอยทากอย่างเดียว และเอาแค่หอยทากบกอย่างเดียว ทั่วโลกก็มีเป็นหมื่นชนิดแล้ว
อาบัน : โหว เยอะนะ
แทนไท : แล้วในประเทศไทยเรา เอาแค่ที่ทีมอ.สมศักดิ์ค้นพบก็หลายร้อยชนิดแล้ว รู้สึกจะมีการบันทึกบรรยายไว้แล้วประมาณ 600 สปีชีส์ แต่คาดการณ์ว่าแค่หอยทากบกนี่ประเทศไทยน่าจะมีทั้งหมดจริงๆ ประมาณพันห้าร้อยกว่าสปีชีส์
อาบัน : เยอะมาก
แทนไท : เยอะครับ แล้วสังเกตอย่างหนึ่งว่า สื่อไทยชอบตื่นเต้นกับการทำข่าวค้นพบสปีชีส์ใหม่มาก เวลาผมเปิดเน็ตหาข้อมูลข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยของ อ.สมศักดิ์ และคณะผู้ศึกษาหอยในเมืองไทย จะเจอคลิปนักวิจัยไปออกรายการให้สัมภาษณ์หรือพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ดังต่างๆ ซึ่งเขามักจะจั่วหัวความตื่นเต้นไปที่การค้นพบหอยชนิดใหม่ตลอดเลย
อาบัน : คือต้องเป็นการค้นพบชนิดใหม่ถึงจะขึ้นหน้าหนึ่ง
แทนไท : ใช่ แล้วพอเราคลิกเข้าไปดูเนื้อหาหลักของข่าวหรือรายการ เขาก็มักจะยิงคำถามว่าค้นพบสปีชีส์ใหม่ไปแล้วได้อะไร สปีชีส์ใหม่มันจะมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า แล้วสุดท้ายคนให้สัมภาษณ์ก็มักจะวนเวียนมาตอบประมาณว่า การค้นพบสายพันธุ์ใหม่เยอะๆ มันเป็นการบ่งบอกว่าป่าไทยหรือทรัพยากรธรรมชาติของไทยยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ มันเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติและความหลากหลายต่างๆ ซึ่งก็ถือเป็นประเด็นที่ดี ตลอดจนเป็นเรื่องที่สาธารณชนควรเข้าใจและให้ความสำคัญนะ แต่ผมมองว่าถ้าหยุดอยู่แค่นี้ มันยังไม่ครบ
ป๋องแป๋ง : หืม
แทนไท : การค้นพบสปีชีส์ใหม่แล้วตื่นเต้นฮือฮา แล้วก็จบแค่นั้น ผมว่ามันเป็นการตื่นเต้นที่เร็วไป และหายตื่นเต้นเร็วไป
จริงๆ แล้วการค้นพบสปีชีส์ใหม่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการที่เราออกไปสำรวจธรรมชาติแล้วเริ่มต้นทำแคตตาล็อก จดไว้ทั้งหมด อันไหนเจอเหมือนเดิมก็จดไว้ อันไหนแปลก ไม่ซ้ำเดิม ก็จดไว้ ซึ่งเป็นงานที่เยอะและเหนื่อยมากแล้ว แต่ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น พอเราได้แคตตาล็อกมาแล้ว เราถึงสามารถนำสิ่งที่เราพบมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ และเริ่มต้นตั้งคำถามว่า สปีชีส์ที่เหมือนหรือต่างกันนั้น เป็นเพราะอะไร
อาบัน : อ๋า พอเข้าใจ สมมุติว่าเราเจอสปีชีส์ที่เหมือนหรือคล้ายกับสิ่งอื่นที่อยู่ในแคตตาล็อก เราก็อาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องกันยังไง
แทนไท : หรือถ้ามันไม่เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่เราเคยเจอมาก่อน เราก็อาจจะเกิดความสนใจว่า เอ๊ะ แล้วสิ่งแวดล้อมหรือเงื่อนไขของเจ้าตัวใหม่นี่มันแปลกประหลาดอย่างไร ถึงผลักดันให้วิวัฒนาการออกมาต่างแบบนี้
ป๋องแป๋ง : อาจจะยกตัวอย่างเช่น ทำไมเราถึงเห็นสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องไปรวมกันอยู่แถวออสเตรเลียหมด
แทนไท : อ้า จะตั้งคำถามประเภทนั้นก็ได้ จะเห็นได้ว่าการจัดทำแคตตาล็อกต่างๆ ว่าสัตว์อะไรหน้าตาเป็นยังไง อาศัยอยู่ที่ไหน เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ธรรมชาติของชีวิต ว่ามันเป็นมาอย่างไร และเพราะอะไร สี่งนี้แหละเป็นหัวใจหลักของชีววิทยาที่อาจยังไม่ค่อยอยู่ในบทสนทนาต่างๆ ที่ออกสื่อทั้งหลายมากนัก
อาบัน : ค่า
แทนไท : ถ้าเราไปดูหอย เรื่องราววิวัฒนาการ เรื่องราวการปรับตัวของมัน คำอธิบายว่าหอยนี้ทำไมถึงหน้าตาอย่างนี้ ทำไมมีพฤติกรรมแบบนี้ อาจจะน่าสนใจกว่าการเน้นแค่เรื่องการจดชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ แล้วจบ
อาบัน : เราควรเข้าใจมันด้วย
แทนไท : ใช่ ความรู้มันไม่ได้จบแค่ชื่อ และสิ่งที่ใหญ่กว่าหอย ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของชีวิตทั้งหมด… การศึกษาหอยจริงๆ แล้วนับเป็นส่วนหนึ่งของการปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ให้เราเห็นพล็อตเรื่องของหนังชีวิตเรื่องใหญ่ที่ทุกชีวิตแสดงร่วมกันหมด
อาบัน : โหวว ในหนังเรื่องนี้อาบันต้องเป็นนางเอกแน่เลย
แทนไท : เดี๋ยวๆ เอางี้ เราลองมาดูความสัมพันธ์ตัวละครก่อน เริ่มจากอาบันกับชิมแปนซีนี่เป็นญาติกัน
อาบัน : อ้าว
แทนไท : เอาป๋องแป๋งด้วยก็ได้ ทั้งป๋องกับอาบันเนี่ยเป็นมนุษย์ และมนุษย์เป็นญาติกับชิมแพนซี แยกจากกันเมื่อสักประมาณ 7-8 ล้านปีก่อน ขณะเดียวกัน ทั้งมนุษย์และชิมแพนซี ก็เป็นญาติกับปลาด้วย แต่อาจจะมีความแตกต่างกันเยอะและเป็นญาติที่ห่างหน่อย คือแยกจากกันเมื่อสักสามสี่ร้อยล้านปีก่อน คำว่า “ญาติ” ห่างมากห่างน้อย เรานึกตามที่เรานับญาติกันในครอบครัวเลยก็ได้ อย่างสมมติอาบันกับลูกพี่ลูกน้องอาบันเนี่ย พอจะนึกภาพออกเลยไหมว่าสองครอบครัวแยกจากกันเมื่อไหร่
อาบัน : ก็เริ่มเห็นบ้างนะ
แทนไท : เราอาจจะลองนับเป็นรุ่นว่าแยกจากกันประมาณ 2 รุ่นก่อน โดยมีจุดเชื่อมก็คือคุณตา คุณยาย เป็นคนเดียวกัน ถ้านับเป็นเวลาก็อาจจะย้อนกลับไปสัก 40-50 ปี เขาเรียกว่าจุดที่มีบรรพบุรุษร่วม
ป๋องแป๋ง : จุดที่มีบรรพบุรุษร่วม อ๋อ
แทนไท : ทีนี้ ถ้าเกิดจับคู่ใหม่ระหว่างอาบันกับชาวจีนสุ่มๆ สักคน อาบันกับชาวยุโรปสุ่มๆ สักคน อาบันกับชาวแอฟริกาสุ่มๆ สักคน ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปไกลกว่า 40-50 ปีถึงจะเจอจุดที่มีบรรพบุรุษร่วม อาจจะเป็นหลักร้อยปี พันปี หรือหมื่นปี… ประเด็นคือ เราสามารถคิดแบบนี้กับทุกคู่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกได้… เอ้า สมมุติป๋องแป๋งยกตัวอย่างอะไรมาสัก 2 ตัว
ป๋องแป๋ง : นกกับหมา
แทนไท : อ้า นกกับหมา เราก็จะบอกว่านกกับหมาแยกออกจากกันประมาณสัก 250 ล้านปีก่อน โดยมีบรรพบุรุษร่วมคือสัตว์เลื้อยคลานสมัยที่ยังไม่แยกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกับสัตว์ปีก แต่ถ้ามาดูในกลุ่มนกด้วยกันเอง นกอินทรีย์กับนกฮูกก็จะเป็นญาติชิดกันเข้ามา คือบรรพบุรุษร่วมของคู่นี้ไม่มีทางแยกจากกันก่อนหน้า 250 ล้านปีแน่นอน นึกออกใช่ไหม
ป๋องแป๋ง : อื้ม
แทนไท : หรือถ้าเราไปดูคู่จิ้งหรีดกับตั๊กแตน จิ้งหรีดกับด้วง มะพร้าวกับส้มโอ มะพร้าวกับแบคทีเรีย แบคทีเรียกับเห็ดออริงจิ ฯลฯ เอาเท่าที่จะคิดได้เลย เราลองนึกภาพดูสิว่าถ้าเราจับคู่แบบนี้กับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก มันจะเกิดภาพภาพหนึ่งออกมา เป็นภาพความสัมพันธุที่มีลักษณะเป็นพุ่มอันใหญ่โตมหึมาโอฬารมาก สิ่งนี้เขาเรียกว่า “ต้นไม้แห่งชีวิต” หรือ Tree of Life
ป๋องแป๋ง : เดี๋ยวนะพี่ ผมขอคอมแมนต์สั้นๆ คือผมรู้สึกว่าที่พี่แทนให้พี่อาบันนึกเรื่องลูกพี่ลูกน้องหรือญาติห่างๆ ที่สมมติย้อนกลับไปมีทวดร่วมกันตะกี้ จากนั้นไล่ต่อไปพี่อาบันกับชาวยุโรป กับชาวแอฟริกา มันก็ต้องย้อนกลับไปไกลขึ้น ซึ่งทุกอย่างเมกเซนส์ แต่ผมรู้สึกว่าแค่นี้ “ต้นไม้” มันก็ต้องใหญ่มากละนะ แต่นี้เล่นโยงระหว่างคนกับปลา หมากับนกงี้ ต้นไม้มันยิ่งใหญ่เบร้อ แบบอีปิก…
แทนไท : อา หรืออย่างคนกับหอยนี่อาจจะแยกจากกันเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ไกลขึ้นไปอีก หอยกับแบ็คทีเรียนี่ยิ่งระดับพันล้านปี
ป๋องแป๋ง : คือปกติ ผมศึกษาด้านฟิสิกส์ก็รู้สึกว่าเอกภพยิ่งใหญ่ เรื่องเกี่ยวกับอนุภาคอะไรก็ซับซ้อน แต่ไอ้ที่พี่พูดมามันทำให้ผมซาบซึ้งกับความยิ่งใหญ่ของ Tree of Life นะ
แทนไท : ใช่
ป๋องแป๋ง : ใหญ่มาก
แทนไท : Tree of Life เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ฮะ แล้วอายุของมันยาวนานประมาณ 4,000 ล้านปี คือเกือบเท่าอายุของโลกเลย และระหว่างนั้นมันก็ได้แตกแขนงกิ่งก้านสาขามากมายจนพุ่มใหญ่มหึมาโอฬาร… พอเรามองตรงนี้ เราก็จะเริ่มเห็นว่าจริงๆ แล้วนักสังขวิทยา นักมีนวิทยา ที่ศึกษา บันทึก ชนิดของพันธุ์ปลา พันธุ์หอย ทั้งหลายแหล่ เขาทำอะไรกันอยู่ คือเขาอยู่คนละมุมโลกแล้วช่วยกันวาดภาพต้นไม้ต้นนี้ขึ้นมาไงครับ ช่วยกันเติมว่ากิ่งเป็นแบบนี้ ใบเป็นแบบนั้น ผมว่านี่มันเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ เหมือนจิตรกรรมที่วาดบนผนังโบสถ์
ป๋องแป๋ง : โอววว
อาบัน : สำหรับเรา รู้สึกว่าความน่าทึ่งของเจ้าต้นไม้แห่งชีวิตนี้ คือการที่กิ่งพุ่มมันเยอะขนาดนั้น แต่สุดท้ายย้อนกลับไปมันก็เป็นลำต้นเดียวกัน อย่างเช่นเรากับหอย ทุกวันนี้สรีระต่างกันเยอะมาก แต่ครั้งหนึ่งก็อุตส่าห์เคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน สมัย 500 ล้านปีก่อนรึเปล่านะ
แทนไท :ใช่ แล้วไม่ต้องเอาคนเป็นตัวตั้งก็ได้นะ หอยกับเป็ดก็ห่างกัน 500 ล้านปี บรรพบุรุษร่วมของหอยกับคนก็คือตัวเดียวกันกับของหอยกับเป็ดนั่นแหละ
อาบัน : นั่นน่ะสิ เป็นไปได้ยังไง รู้สึกอะเมซิ่งมาก หรือในทางกลับกัน ถ้ามองว่าวิวัฒนาการของคนกับหอยเริ่มต้นที่จุดเดียวกัน แต่พอเวลาผ่านไป ทำไมเส้นทางของเรากับมันถึงได้ต่างกันมากขนาดนี้ นึกภาพเวลาเราแกะหอยกิน เครื่องในมันแทบไม่มีอะไรเหมือนเราเลยนะ ขนาดตัวก็เล็กกว่าไม่รู้กี่เท่า อะเมซิ่ง
แทนไท : ใช่ ความน่าอัศจรรย์คือประวัติศาสตร์ต้นไม้แห่งชีวิตที่แตกกิ่งก้านสาขามายาวนานมาก จนแต่ละกิ่งแต่ละพุ่มมันอยู่ห่างไกลกัน และแตกต่างกันได้ในระดับบุมบาราเฮ่มาก แต่ไม่ว่าจะยังไง ในความแตกต่างเหล่านี้ก็มีความเหมือนซึ่งทำให้เราแกะรอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้นร่วมได้เสมอ
ป๋องแป๋ง : อื้อหืม พอเปรียบเทียบว่านักวิทยาศาสตร์เขาค่อยๆ ต่อเติมภาพจิ๊กซอว์เพื่อให้เห็นภาพต้นไม้ยักษ์นี้จนครบ มันยิ่งใหญ่มากนะ แล้วต้นไม้นี้มันไม่หยุดโตด้วยใช่ไหมพี่
แทนไท : ใช่ ยอดอ่อนสุดคือสปีชีส์ที่มีชีวิตอยู่ก็ยังคงแตกแขนงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ก็จะมีกิ่งใบอีกนับไม่ถ้วนที่หยุดงอกเพราะเป็นตัวแทนสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ถ้านับพวกนี้ด้วยพุ่มก็จะยิ่งดกหนาขึ้นไปอีก และเป็นโจทย์ให้ต่อจิ๊กซอว์เพิ่มได้อีก อย่างเช่นเหล่านักบรรพชีวินที่ศึกษาไดโนเสาร์หรือสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ก็คอยมาเติมภาพต้นไม้แห่งชีวิตเหมือนกัน
ป๋องแป๋ง : อื้อหืม ซับซ้อนได้อีก
แทนไท: จะบอกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของต้นไม้แห่งชีวิตยังมีอีกอย่างนะ ท่านป๋องแป๋งและท่านบัน กล่าวคือ แต่ละใบของมันจะว่าไปก็เปรียบได้ดั่งหนังสือ 1 เล่ม เป็นตำรา 1 เล่ม คือความรู้ที่สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตนั้นสั่งสมมาในการอยู่รอดไม่รู้กี่ล้านเจนเนอเรชัน ในรูปแบบสิ่งแวดล้อมที่จำเพาะเจาะจงของมัน แล้วถ้าเกิดว่าใบหนึ่งถูกเด็ดหายไป สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นสูญพันธุ์ไป มันก็เท่ากับว่ามีหนังสือ 1 เล่มหายวับไปเลย หายไปโดยที่บ่อยครั้งเรายังไม่เคยเปิดดูด้วยซ้ำว่าในเล่มนั้นเขียนว่าอะไรบ้าง สมมุติว่ามีสัตว์ป่าหรืออะไรอย่างหนึ่งสูญพันธุ์ไปเพราะเราไปฆ่าแกงมัน ทำลายบ้านมัน ความรู้สึกสูญเสียมันไม่ใช่แค่การเศร้าต่อการตายแบบ โอ้โห สัตว์ตาย โหดร้าย เจ็บปวด อย่างเดียวนะ สิ่งที่หายไปมันคือคุณค่าของหนังสือเล่มหนึ่งที่หายไปจากห้องสมุดชีวิต
…
ลมหายใจหอย
แทนไท : เอาล่ะ ช่วงต่อไป เรามาสำรวจกันดีกว่าว่าหอยทากบกมีการปรับตัวอะไรที่น่าทึ่ง น่าสนใจบ้าง
ป๋องแป๋ง : หอยทากนี่ผมเฉยๆ นะ เจอบ่อย
แทนไท : ในสวนใช่ไหม เราเห็นมันจนชินนะ แต่อย่าลืมว่าจริงๆ บรรพบุรุษกลุ่มหอยทากบกนี่เคยอยู่ในน้ำมาก่อน เพราะฉะนั้น พอขึ้นมาอยู่บนบก จึงมีตัวอย่างของวิวัฒนาการการปรับตัวที่น่าทึ่งหลายเรื่องมาก
อาบัน : หูว เก่งจัง
แทนไท : ยังไม่ทันบอกเลยว่ามีอะไรบ้าง
อาบัน : ก็อาบันลองนึกล่วงหน้าไปก่อน เช่นถ้าเขาเคยอยู่ในน้ำ พอขึ้นมาอยู่บนบกก็คงต้องรักษาผิวให้ชุ่มชื้น เลยต้องสร้างเมือกขึ้นมากระมัง
แทนไท : อ้า ใช่ๆ เมือกก็เป็นอย่างหนึ่ง ลองนึกภาพเทียบกับวิวัฒนาการของสายสัตว์มีกระดูกสันหลังก็ได้ ยุคที่ปลาขึ้นบกมาใหม่ๆ แล้วกลายเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น พวกกบ ผิวหนังพวกนี้ก็ยังต้องคงความเมือกๆ ชื้นๆ ไว้เหมือนกัน แต่พอวิวัฒนาการแตกสายไปเป็นสัตว์เลื้อยคลานก็จะมีเกล็ดมาปกป้องผิว คราวนี้สามารถอยู่ที่แห้งๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวเสียน้ำละ เรื่องผิวนี่ก็เรื่องหนึ่งที่ต้องปรับตัวหากจะขึ้นมาอยู่บนบก แต่ยังมีเรื่องใหญ่กว่านั้นอีกนะ
อาบัน : เห
แทนไท : เรื่องการหายใจไง ตอนปลามีวิวัฒนาการขึ้นบก ต้องค่อยๆ เปลี่ยนจากหายใจด้วยเหงือกมาเป็นหายใจด้วยปอด เหมือนอย่างที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีปอดก็ไปไหนมาไหนลำบากเลยนะ
อาบัน : จริงด้วย นี่มันต้องยกเครื่องเปลี่ยนระบบอวัยวะใหม่เลยนะ แล้วพวกหอยทากทำยังไง
แทนไท : หอยทากบกที่เราเห็นตามสวนนี่ก็มีวิวัฒนาการการหายใจด้วยปอดขึ้นมาเหมือนกัน ปอดมันอาจจะคนละต้นกำเนิดกับปอดของมนุษย์ แต่คอนเซ็ปต์เดียวกันเป๊ะ คือเป็นถุงอยู่ในตัว ยุบหนอพองหนอได้ และข้างนอกมีรูเปิดให้ลมหายใจเข้าออก เคยเห็นรูจมูกหอยไหม ตรงใกล้ๆ คอมันจะมีรูเปิดอยู่รูนึง แล้วมันก็จะดูดลมเข้าไปทางนี้แหละ
ป๋องแป๋ง : ไม่เคยเห็นว่ะพี่ ให้ตายเถอะ
แทนไท : ว่างๆ ลองไปสังเกตนะ ลองเอาหูไปแนบฟังเสียงหายใจของหอยดู
ป๋องแป๋ง : มันมีเสียงด้วยเรอะ!
แทนไท : ไม่รู้ว่ะ อันนี้มั่ว แต่มันจะดูดลมเข้าไปผ่านรูนี้ แล้วข้างในก็เป็นถุงชื้นๆ ที่มีเส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงเยอะๆ ทำให้มันหายใจแลกเปลี่ยนแก๊ซกับอากาศได้โดยตรง
ป๋องแป๋ง : เดี๋ยว รูมันอยู่ตรงคอเนี่ยนะ…
แทนไท : ลองหารูปให้ดูดีกว่า
ป๋องแป๋ง : อ๋อ มิน่าเขาถึงเรียก คอหอย
อาบัน : ไม่ใช่แล้วโว้ย
หอยใหญ่ หอยแปลก หอยสวย
แทนไท : ปกติเราเห็นแต่หอยทากบกตัวสีคล้ำๆ หน้าตาธรรมดา แต่ถ้าเราไปสำรวจความหลากหลายของมันจริงๆ จะพบว่ามีหอยสวยๆ เยอะเลยนะ (โชว์รูปให้ดู เป็นหอยทากที่มีเปลือกหลายสีสลับกัน และเป็นลายม้วนวนเหมือนลูกกวาด ถ้าอยากดูลองเสริชกูเกิลว่า polymita snails)
อาบัน : โหสวยมาก
แทนไท : อันนี้เป็นหอยจากอเมริกาใต้ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม
ป๋องแป๋ง : เมืองไทยไม่มีแน่นอน
แทนไท : บ้านเราอาจจะไม่สวยขนาดนี้ แต่ก็มีสวยๆ เหมือนกันนะ หอยแต่ละที่ แต่ละประเทศ ก็จะมีจุดเด่นต่างกันไป
ป๋องแป๋ง : หอยบ้านเรามันคล้ำๆ อะพี่ สีเหมือนดินน่ะ
แทนไท : อย่าใช้คำว่าคล้ำได้ไหม
ป๋องแป๋ง : ก็มันสีคล้ำจริงๆ อะ
อาบัน : (หัวเราะ) เดี๋ยว อาบันขอบรรยายรูปหอยสีสวยนี้ให้ผู้ฟังทางบ้านก่อนนะ คือตรงเปลือกมีแถบสีเหลืองสลับสีแดงสลับดำสลับขาว ส่วนตรงตัวน้องหอยเนี้ย เป็นหอยทากที่สีดำเข้ม ดำสนิทเลย แล้วมีหนวดยื่นออกมา 2 ก้านเหมือนเสาทีวีสมัยโบราณ อีกตัวนึงสีเปลือกไม่เหมือนตัวแรกด้วย แบ็คกราวด์เป็นสีส้มแล้วก็ไล่เฉดมาเป็นสีส้มอ่อน มาเป็นสีเหลือง สีขาว แล้วตัดเส้นด้วยสีดำ เหมือนมีคนเอาปากกามาเขียนเลย ที่สำคัญคือเปลือกหอยพวกนี้สีสดมาก แดงก็แดงสด เหลืองก็เหลืองสด อย่างที่ป๋องแป๋งบอก มันไม่เหมือนหอยบ้านเราที่สีคล้ำ
แทนไท : ป๋องแป๋งยังไม่รู้จักหอยบ้านเราดีพอรึเปล่า อาจจะเคยเห็นหอยมายังไม่เยอะนะครับ
ป๋องแป๋ง : ก็เยอะอยู่นะ
แทนไท : พี่ว่าป๋องแป๋งอาจจะเคยเห็นแต่หอยแถวบ้าน
ป๋องแป๋ง : เป็นไปได้ครับ
แทนไท : ถ้าอยากรู้จักหอยแปลกๆ เราอาจจะต้องไปดูให้ลึกซึ้งและกว้างไกลกว่านั้นนิดหนึ่ง มา เดี๋ยวพี่พาไปสำรวจต่อ ตะกี้เราดูหอยสีแปลกไปแล้ว ทีนี้เราลองดูรูปทรงแปลกบ้าง (โชว์รูปหอยที่เปลือกเป็นหยักๆ เหมือนกงจักร)
อาบัน : เหมือนใบเลื่อยวงเดือนที่เอาไว้เลื่อยไม้เลย น่ากลัวชะมัด
แทนไท : นอกจากจะมีความหลากหลายด้านรูปร่างเปลือกแล้ว หอยทากบกยังมีความหลากหลายด้านขนาด ปกติหอยทากตัวใหญ่สุดที่เราเคยเห็น น่าจะประมาณลูกบิลเลียดได้มั้ย
ป๋องแป๋ง : ลูกบิลเลียดเลยเหรอพี่ ขนาดนั้นผมยังไม่เคยเห็นเลย หอยใหญ่สุดในชีวิตที่ผมเคยเจอคือตอนกลับบ้านดึกคืนหนึ่ง แล้วฝนมันตก ผมเจอหอยตัวเท่านี้ ใหญ่ประมาณ…เท่าหัวไก่ได้ สำหรับผมแค่นี้ก็ใหญ่มากแล้ว
แทนไท : ที่บ้านพี่ปลูกต้นไม้เยอะ เวลาฝนตก ถอยรถมักจะได้ยินเสียง “แกร๊บ” พอลงมาดูก็เห็นว่าทับหอยทากตัวใหญ่ๆ สะเทือนใจมาก
อาบัน : เราเคยเหยียบด้วยล่ะ วันนั้นดึกแล้วเราเปิดประตูบ้านให้พี่หมี เราเหยียบไปดัง “กร๊อบ” แล้วเราก็แบบอะไรวะ หันมามองอีกทีคือเหยียบหอยทากตัวใหญ่มาก ตัวประมาณเท่ากำมือได้
แทนไท : บอกท่านผู้ฟัง ตอนนี้ผมกําลังจะโชว์รูปให้ป๋องแป๋งกับอาบันดูนะฮะว่าหอยทากบกที่ใหญ่ที่สุดจริงๆ แล้วใหญ่ได้ขนาดไหน ตัวนี้เป็นหอยทากแอฟริกาพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อาบัน : อื้อหืม! นี่มันใหญ่มาก แถมไม่ใช่แค่เปลือกใหญ่ แต่ตัวมันล้นออกมานอกเปลือกเยอะมาก
แทนไท : ในรูปเขาเอามันมาวางบนมือ แล้วตัวมันแผ่ตั้งแต่ปลายนิ้วไปจนถึงกลางแขนเลยนะครับ เรียกได้ว่าเต็มไม้เต็มมือมาก น่าจะยาวเกิน 1 ฟุตนะผมว่า อีกนิดหนึ่งจะเป็นกระต่ายแล้ว
ป๋องแป๋ง : มันชื่อหอยอะไรอะพี่
แทนไท : มันมีหลายพันธุ์ แต่โดยปกติหอยยักษ์พวกนี้จะอยู่แถบแอฟริกา ถ้าอยากเสิร์ชกูเกิลดู ใช้คำว่า African Giant Snail ก็ได้ หอยบ้านเราสู้เรื่องความใหญ่ไม่ได้ แต่ก็มีการค้นพบหอยที่เกือบจะเล็กที่สุดในโลกนะ ให้ทายว่าหอยที่เล็กที่สุดขนาดประมาณเท่าไหร่
ป๋องแป๋ง : ผมเคยขึ้นดอยสุเทพช่วงหน้าฝน จะมีหอยตัวเล็กๆ เดินเกลื่อนกลาด ขนาดประมาณนิ้วก้อย สัก 5 เซนติเมตรได้มั้ง
แทนไท : อันนี้คือเล็กกว่าครึ่งมิลลิเมตรครับ
ป๋องแป๋ง : นั่นหอยหรือผงครับ
แทนไท : ไม่มีรูปให้ดูนะ แต่ลักษณะหน้าตามันก็เหมือนหอยธรรมดานี่แหละ แค่ตัวเล็กมาก
ป๋องแป๋ง : ผมว่าถ่ายไม่เห็นหรอกพี่ ขี้ฝุ่นชัดๆ แล้วหอยครึ่งมิลฯ เวลามันเดินมันค่อยๆ เดินหรือลมพัดมันลอยไปตามอากาศ แล้วที่ผมสูดหายใจนี่ สูดหอยเข้าไปด้วยรึเปล่าเนี่ย
อาบัน : ลองคิดดูนะ ปกติหอยทากก็เดินช้าอยู่แล้ว เจ้าตัวจิ๋วนี่ทั้งชีวิตมันคงเดินได้ไม่เกิน 1 เมตร
แทนไท : (หัวเราะ) ดูทุกคนตื่นเต้นกับเรื่องขนาดหอยดีนะ ต่อไปเรามาดูด้านอื่นๆ ของชีวิตหอยกันบ้าง
หอยกินอะไร
แทนไท : บางคนอาจจะสงสัยว่าหอยทากบกกินอะไร
ป๋องแป๋ง : กินหญ้าไงพี่
แทนไท : หอยมันก็เดินเล่นกินนู่นกินนี่ตามพื้นไปเรื่อยๆ แล้วที่สำคัญ คนอาจจะไม่รู้ว่าหอยมีฟัน
ฟันหอย
ป๋องแป๋ง : เดี๋ยวนะ สรุปมันกินหญ้าใช่ไหมพี่
แทนไท : มันมีหอยที่กินหลายอย่าง หอยกินซากใบไม้ พืชผักเน่าเปื่อย ก็มี หอยกินพืชแบบมอส ตะไคร่ ก็มี หรือจะกินใบไม้ ต้นไม้ แบบเป็นศตรูพืชเลยก็มี แต่ที่น่าแปลกคือ มีหอยกินเนื้อด้วยนะ พวกหอยกินหอย
ป๋องแป๋ง : หา จริงเหรอพี่
แทนไท : จริงฮะ มันมีหอยทากบกบางชนิดที่เรียกว่าเป็นหอยนักล่า คือจะไม่กินอย่างอื่นนอกจากหอยด้วยกันเท่านั้น
ป๋องแป๋ง : (อึ้ง)
แทนไท : เอาเป็นว่ามันมีนิสัยการกินหลายอย่างและที่น่าทึ่งก็คือ ถ้าเราไปดูฟันมันเนี่ย… เอาอย่างนี้ก่อน อย่างฟันป๋องแป๋ง ฟันอาบัน ข้างหน้านี้ก็คือฟันจอบ เอาไว้กัดแครอทใช่ไหมครับ ส่วนฟันหมาฟันแมวที่กินเนื้อเยอะๆ เราก็จะเห็นว่ามีฟันเขี้ยวชัดเจน เชื่อหรือไม่ว่าหอยก็มีฟันแบบนั้นเหมือนกัน
อาบัน : เขี้ยวน่ะเหรอ
แทนไท : นี่คือภาพของฟันหอยที่ถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกน ฟันหอยมีลักษณะเป็นเกล็ดๆ เรียงบนแผ่น ลองนึกภาพกระดาษทรายแผ่นเล็กๆ แล้วถ้าเราไปซูมดูฟันแต่ละซี่ที่สร้างความหยาบให้กับแผ่นนั้นใกล้ๆ จะพบว่ามีรูปร่างแตกต่างกันไปตามนิสัยการกินของหอย อย่างหอยกินเนื้อ เราก็จะเห็นเลยว่าฟันแต่ละซี่ของมันเป็นเขี้ยวแหลมๆ ส่วนหอยกินพืชฟันก็จะมีทรงเป็นจอบเหมือนฟันหน้าม้า
ภาพและคำบรรยายจาก หนังสือ หอยทากบกในอุทยานแห่งชาติเขานัน โหลดได้ฟรี
อาบัน : อีกรูปนี่แต่ละซี่เหมือนตีนโดนัลด์ดั๊กเลย น่ารัก
แทนไท : อ้า อันนี้เป็นฟันหอยกินซาก จะมีความแฉกๆ หนามๆ แต่ปลายจะมน ไม่แหลมเท่าเขี้ยวของพวกกินเนื้อ… การดูฟันหอยแบบต่างๆ ว่ามีลักษณะยังไง แล้วพบว่ามันสอดคล้องกับอาหารที่มันกินอย่างไร เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่พี่บอกว่าความรู้มันไม่ได้จบแค่ชื่อ เพราะยิ่งศึกษาไปแล้วเรายิ่งเห็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ป๋องแป๋ง : อืม นอกจากนี้มันยังนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยนะพี่ ผมว่า
น่าเอาไปพัฒนาทำกระดาษทรายเบอร์ต่างๆ
แทนไท : อื้ม ก็ถ้าใครฟังแล้วเกิดไอเดียอะไรก็เขียนเสนอขอทุนจาก สกว. ได้นะฮะ เผลอๆ อาจจะได้รางวัลงานวิจัยเด่นปีหน้า
…
เริ่มสำรวจหอยแปลกๆ ที่พบในบ้านเรา
ภาพส่วนใหญ่จากเว็บ siamensis.org หน้านี้ / หน้านี้ /และหน้านี้ + หนังสือ หอยทากบกในอุทยานแห่งชาติเขานัน
หอยทากไทย
แทนไท : ช่วงต่อไปมาดูหอยทากบกเมืองไทยที่แปลกๆ กันบ้าง หอยแถวนี้มีความหลากหลายที่ไม่ค่อยพบแถวอื่นเยอะเหมือนกัน ผมยกตัวอย่างเช่นหอยกลุ่มที่เรียกว่า หอยงวงท่อ เปลือกมันจะยื่นออกมาเป็นท่อแล้วค่อยม้วนตรงปลาย
หอยงวงท่อ
อาบัน : เหมือนงวงช้างเลยเนาะ
แทนไท : ใช่ หน้าตามันจะดูแปลกๆ หน่อย ไม่ค่อยเหมือนหอยที่เราเห็นกันประจำ และจุดเด่นอีกอย่างของตัวนี้คือลองดูบนตัวมันสิ จะเห็น
แผ่นกลมๆ แปะอยู่กลางหลัง
อาบัน : เหมือนหมวกเลย
แทนไท : นี่คือฝาปิด หมายความว่าเวลามันหดกลับเข้าไปในเปลือก ไอ้ฝากลมตรงนี้ก็จะปิดจุกพอดี เอาไว้กันอันตรายหรือกันการเสียความชื้น เพราะพวกนี้เป็นหอยบกที่ยังจากน้ำมาไม่ไกล ยังต้องอาศัยในที่ชื้นๆ อยู่
ป๋องแป๋ง : ผมว่ามีจุกไว้หน่อยก็ดีนะ อย่างน้อยถ้ามีตัวอะไรจะเข้ามากัดหอยก็เจอจุกแข็งๆ นี่กันไว้ก่อน
แทนไท : หอยแปลกตัวถัดมาเรียกว่า หอยขัดเปลือก พบแถวบ้านเราเหมือนกัน คือเปลือกมันจะมันวาวมาก เป็นสีทองเปล่งประกายเลย
หอยขัดเปลือก

ป๋องแป๋ง : หอยวาวขนาดนี้เพิ่งเคยเห็นเลยว่ะพี่
แทนไท : สาเหตุที่วาวเพราะหอยมันจะยืดติ่งหรือเยื่อที่เรียกว่าแมนเทิลของมันออกมาขัดเปลือกตลอดเวลา จนเปลือกมันสะอาดกิ๊ง (โชว์รูป เหมือนหอยกำลังยื่นมือออกมาเช็ดเปลือก)
อาบัน : (หัวเราะ) ตลกอะ เหมือนขัดรองเท้าเลย
แทนไท : ซึ่งทำแบบนี้ไปแล้วได้ประโยชน์อะไรกับตัวมันผมก็ยังไม่รู้เลยนะ ยังอ่านหาข้อมูลไม่เจอเลย
อาบัน: ใครทราบก็เข้ามาบอกด้วยนะคะ
แทนไท : เอ้า หอยแปลกๆ บ้านเรามีอีกเยอะ อย่างตัวนี้ หอยขน
หอยขน
อาบัน : อี๋ น่าเกลียดมาก
แทนไท : ตัวนี้ป๋องแป๋งน่าจะคุ้นเคยรึเปล่าครับ
ป๋องแป๋ง : ไม่คุ้นเลยพี่ ไม่เคยเห็นหอยแบบมีขนน่ะ
แทนไท : เห็นแต่แบบไม่มีขน
ป๋องแป๋ง : ใช่
แทนไท : ตัวถัดไป หอยห่อเปลือก มันจะปลิ้นเอาเนื้อเยื่อข้างในหอยของมันแผ่ออกมา เอ่อ อธิบายนิดหนึ่งพวกสัตว์กลุ่มหอยกลุ่มปลาหมึก มันจะมีเยื่อชั้นพิเศษเรียกว่าเยื่อแมนเทิล ซึ่งสารพัดประโยชน์มาก อย่างไอ้ตัวนี้ ก็คือเอาเยื่อแมนเทิลแผ่ออกมาคลุมเปลือกไว้อีกที แล้วคลุมแทบจะมิดเลยด้วย
ป๋องแป๋ง : เพื่ออะไรอะพี่
แทนไท : ไม่รู้เหมือนกัน เนี่ย มีอะไรแปลกๆ เยอะที่ผมไม่รู้เลยว่ามันมีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง
อาบัน : แต่คลุมเปลือกแล้วไม่สวยเลย ไอ้เยื่อแมนเทิลมันสีอย่างกับเนื้อเน่า
หอยห่อเปลือก
แทนไท : หอยอีกกลุ่มที่พบในบ้านเราเยอะและน่าสนใจมากๆ คือ หอยต้นไม้ หอยต้นไม้มีวิวัฒนาการขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้ทั้งชีวิตเลย หายใจด้วยปอด มีตีนที่เหมาะสำหรับการเดินบนต้นไม้ แล้วก็ไม่เคยลงจากต้นไม้เลยตั้งแต่เกิดจนตาย จุดเด่นอีกอย่างคือสีมักจะสวย แต่ชอบหากินกลางคืน
ป๋องแป๋ง : เป็นหอยหากินกลางคืน
แทนไท : ใช่ฮะ ประกอบอาชีพสุจริตนะครับ แล้วก็อย่างที่บอกคือสีมักจะสวย อย่างตัวนี้ที่เป็นข่าวค้นพบใหม่โดยทีม อ.สมศักดิ์ ก็ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า หอยบุษราคัม มีสีเหลืองสดใส เป็นดั่งอัญมณีแห่งพงไพร
หอยต้นไม้ เช่นหอยนกขมิ้น หอยบุษราคัม
อาบัน : ดีไซน์เขาเรียบง่ายนะ ตัวสีขาวจั๊วะ แล้วเปลือกก็สีเหลืองนวล
แทนไท : มีอีกตัวหนึ่งชื่อ หอยนกขมิ้น ก็เป็นหอยต้นไม้เหมือนกัน
ป๋องแป๋ง : ตัวนี้สีเหลืองเหมือนเนย
อาบัน : มันดูเป็นหอยใสซื่อบริสุทธิ์มากเลย
แทนไท : ใช่ หอยต้นไม้สวยนะ
ป๋องแป๋ง : ผมยังไม่เคยเห็นสักตัวเลยสาบาน นี่หอยพวกนี้มันอยู่บ้านเราจริงเหรอครับ
แทนไท : จริงฮะ วันหลังต้องลองไปหาดูนะ อยู่ประเทศไทยเรานี่แหละ
ป๋องแป๋ง : ผมเห็นแต่หอยที่แบบ ดูไม่ค่อยเจริญหูเจริญตาทั้งนั้นเลย
แทนไท : คล้ำๆ ใช่มั้ย
ป๋องแป๋ง : ใช่ฮะ
แทนไท : แต่ไม่แน่นะฮะ หอยคล้ำๆ อาจจะมีคุณประโยชน์ด้านอื่นก็ได้ เดี๋ยวต้องรอดูกันต่อไป… อา อันนี้ก็เป็นรูปของ อ.สมศักดิ์ นะครับ (โชว์รูป อ.สมศักดิ์ กำลังให้หอยต้นไม้ 2 ตัวไต่หน้า)
ป๋องแป๋งและอาบัน : (หัวเราะดัง) เฮ้ย
แทนไท : สีหน้าท่านดูยิ้มแย้มฟินมากนะ
อาบัน : อันนี้หอยที่อาบันชอบนี่ ที่สีอินโนเซนต์น่ารัก ตัวเล็กนิดเดียวเองนะ
ป๋องแป๋ง : ฮึ้ย แต่แปลว่าอาจารย์สมศักดิ์แกไม่กลัวหอยนะ
แทนไท : ถ้าแกศึกษาขนาดนี้แล้วยังกลัวหอยนี่ก็…คงมีอะไรผิดปกติแล้วล่ะครับ
อาบัน : แต่ถ้าถึงขั้นเอามาให้เดินอยู่บนหน้านี่เรารู้สึกว่าต้องเข้าขั้นไม่ธรรมดานิดหนึ่งเหมือนกันนะ…
แทนไท : โธ่ โดยปกติอยู่บ้านแกก็คงไม่ทำแบบนี้เองรึเปล่า นี่อาจจะออกสื่อไง มันต้องมีกิมมิก โชว์นิดหนึ่ง แล้วช่างภาพนักข่าวก็อาจจะกำกับอาจารย์ ไหนลองเอาหอยเกาะหน้าหน่อยครับ โอ้ สวยครับ ขอเพิ่มอีกตัวหนึ่งนะฮะ โอ้โห ดี ดีมาก ขออีกช็อต เกาะหน้าผากเลยครับอาจารย์ คืออาจารย์เขาก็อาจจะทำไปตามที่นักข่าวยุไง
อาบัน : รู้ได้ไงว่านี่ไม่ใช่เซลฟี่ถ่ายที่บ้าน
ป๋องแป๋ง : (หัวเราะ) แต่ถ้าผมเป็นอาจารย์ แล้วผมวิจัยเรื่องหอยมาขนาดนี้ เวลานักข่าวมาผมจะจัดเต็ม คือเอาหอยมาเรียงเต็มหน้าแบบไม่ให้เหลือที่ว่างเลย เหลือแค่รูจมูก
อาบัน : ป๋องแป๋ง ทำแบบนั้นยังไม่อาร์ตพอ ป๋องต้องไม่ใส่เสื้อผ้าอะไรเลยแล้วเอาหอยมาเกาะทั้งตัว แล้วเดินออกมาแบบเป็นมนุษย์หอย
ป๋องแป๋ง : ขอบคุณสำหรับไอเดียครับ
อาบัน : หอยแมน
แทนไท : เอ้า ให้ดูรูปไข่หอยต้นไม้นิดหนึ่ง อย่างที่บอกว่าทั้งชีวิตมันอาศัยอยู่บนต้นไม้ ทำรังบนต้นไม้ วางไข่ก็วางบนต้นไม้ เอาใบไม้มาพับเป็นถุงห่อไข่ อันนี้ก็เป็นพฤติกรรมน่าสนใจ พูดถึงวางไข่ มาถึงเรื่องที่พี่ถนัดที่สุด กิจกรรมที่ต้องทำก่อนวางไข่ นั่นก็คือ พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหอยคร้าบ
หอยต้นไม้วางไข่บนต้นไม้ ทั้งชีวิตอยู่บนต้นไม้
Snail Sex
แทนไท : หอยทากบกมีวิวัฒนาการปรับตัวทางด้านเซ็กซ์ที่ไม่ธรรมดาหลายอย่าง อันดับแรกคือ มันสโลว์ไลฟ์มาก… ดังนั้น การที่มันจะไปพบคู่จึงค่อนข้างยาก
อาบัน : เออนะ กว่าจะเดินไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง กว่าจะพบรัก หมดอายุขัยพอดี
แทนไท : เพราะฉะนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็เลยผลักดันให้มันเพิ่มโอกาสในการเจอคู่ด้วยการมีเพศสองเพศซะเลย คือหมายความว่าพอเจอ
อีกตัวหนึ่ง ไม่ต้องมาถามกันแล้วว่าเพศเดียวกันหรือคนละเพศ เจอปุ๊บฟีเจอริ่งได้ทุกตัว เป็นไงฮะคุณป๋องแป๋ง
ป๋องแป๋ง : เอ้อ แปลกประหลาด
แทนไท : แปลกประหลาดกว่านั้นอีกคือ มีอวัยวะเพศชายและหญิงในหอยตัวเดียวกัน
ป๋องแป๋ง : แล้วมันจะเรียกว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมียเนี่ยพี่
แทนไท : เรียกว่าเป็นเฮอมาโฟรไดต์ (Hermaphrodite) คือเป็น 2 เพศในตัวเดียวกันฮะ ตั้งชื่อตามเทพกรีกองค์หนึ่งที่เป็นทั้งหญิงและชาย
อาบัน : แต่มีมนุษย์ที่เกิดมาร่างกายเป็นสองเพศจริงๆ ด้วยนี่ ใช่มั้ย
แทนไท : ใช่ แต่ในคนมันจะไม่ฟังก์ชัน หมายถึง…เครื่องเครามันจะไม่ได้ทำได้ทั้งสองอย่าง แต่ในกรณีหอยเนี่ยเครื่องเครามันจะทำได้ทั้งสองอย่างเลย
อาบัน : ชายหรือหญิงได้หมด
แทนไท : ใช่ฮะ เวลามาเจอกันมันก็จะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คือเป็นท่อที่ทั้งส่งและรับ อย่างสมมุติป๋องแป๋งเดินเอาท่อไปเสียบอีกตัวหนึ่ง ไอ้ตัวนั้นก็จะยื่นท่อมาเสียบป๋องแป๋งด้วยเหมือนกัน
อาบัน : พร้อมกันเลย
แทนไท : ใช่
ป๋องแป๋ง : แล้วท่อนี้มันคือลึงค์รึเปล่าพี่
แทนไท : จะเรียกว่าลึงค์ก็ได้ แล้วลึงค์หอยมันจะห้อยออกมาจากข้างแก้มฮะ…(กลั้นหัวเราะ) คือเหมือนเวลาพวกเราชอบล้อกันให้ลองนึกภาพคนที่มีอวัยวะเพศอยู่บนหน้า มีไข่อยู่บนหน้าผาก หรือห้อยมาจากคางอะไรเงี้ย ปรากฏว่าหอยมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ฮะ
ป๋องแป๋ง : เราเคยล้อกันแบบนั้นด้วยเหรอพี่
แทนไท : (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยของหอยมันไม่ได้ห้อยตลอดไง พอถึงเวลาจะใช้มันค่อยพองปรู๊ดออกมา แล้วที่น่าสนใจมากอาบัน คือหอยนี่มันสโลว์ไลฟ์จริงๆ นะ พอมันมาเจอกันมันจะลูบคลำกันประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง หรือ 4 -5 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องธรรมดา
อาบัน : โอ้ แล้วรูปที่ให้ดูอยู่นี่คือพลอดรักกันอยู่บนถนนไง เราเข้าใจแล้วว่าเวลาเจอหอยทากถูกเหยียบคู่นี่คือเกิดจากอะไร
แทนไท : แล้วหอยเนี่ย นอกจากผสมพันธุ์แลกเปลี่ยนน้ำเชื้อกันแล้ว มันยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาเรียกว่า ศรรัก หรือ Love Dart หน้าตาแบบนี้ (ให้ดูรูป)
Love Dart หรือ ศรกามเพพ ในหอยทาก
อาบัน : ฮึ้ย เป็นรูปลูกศรจริงๆ
ป๋องแป๋ง : เหมือนฉมวก
แทนไท : มันคือศรแบบศรของกามเทพคิวปิดเลย ถามว่าเอาไว้ทำอะไร ระหว่างที่ผสมพันธุ์ไปเนี่ย หอยมันก็จะยื่นไอ้ลูกศรนี่ออกมา แล้วเสียบไปที่หอยอีกตัวหนึ่ง
ป๋องแป๋ง : เพื่อ
แทนไท : ดูการเสียบของมันก่อน บางทีไม่ใช่เสียบธรรมดา แต่เสียบแบบทะลุหัวอีกตัวไปเลย
อาบัน : ตายไหม
แทนไท : ไม่ตาย เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการผสมพันธุ์ของหอยทากบก
อาบัน : เป็นเพราะว่ามันเล็งพลาดรึเปล่า จริงๆ คือตั้งใจจะส่งน้ำเชื้อ
แทนไท : ไม่ๆ อันนี้ไม่ใช่ลึงค์นะ ลึงค์กำลังจุ๊บกันและแลกเปลี่ยนสเปิร์มซึ่งกันและกันอยู่ ส่วนการปักศรเป็นพฤติกรรมแยกออกมาต่างหาก มีอวัยวะต่างหากเอาไว้แผลงศรโดยเฉพาะ
อาบัน : เหมือนถ้าหมีกับป๋องเป็นหอยทากมาพบรักกัน ระหว่างที่กำลังแลกน้ำเชื้ออยู่ก็แบบ ฉึก! อีกคนหนึ่งก็ ฉึก! ทะลุผ่านหัว แล้วก็แลกน้ำเชื้อไปด้วย
แทนไท : เราว่าแค่แลกน้ำเชื้ออย่างเดียวก็อีปิกพอแล้วนะ นี่ยังเอามีดมาเสียบกันด้วย
อาบัน : น่าสนใจ แล้วมันเสียบทำไม
แทนไท : คืออย่างนี้ครับ ในตัวหอยที่มีทั้งสองเพศ ความเป็นผัวผู้มันก็มีหลักสืบพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของมัน คือ เฮ้ย ฉีดน้ำเชื้อไปทั้งทีเนี่ยขอให้ได้ผสมไข่ทั้งหมดที่อยู่ในอีกตัวหนึ่ง แล้วจากนั้นก็จะรีบไปผสมหอยตัวอื่นต่อ คือทำยังไงก็ได้ให้มีลูกเยอะที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ความเป็น
เพศเมียที่อยู่ในหอยมันก็ต้องการคอนโทรลชีวิตมันมากกว่านั้นนิดหนึ่ง อย่างบางทีรับสเปิร์มมาเยอะเกิน ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร มันก็จะมีถุงที่เอาไว้รับสเปิร์มแล้วย่อยกินก่อน หมายความว่ามันไม่ได้ต้องการสเปิร์มไปผสมไข่เยอะขนาดนั้น แต่มันอาจจะอยากกินเข้าไปเป็นสารอาหารเลี้ยงร่างกายส่วนหนึ่งมากกว่า
ป๋องแป๋ง : อร่อย
แทนไท : ดังนั้น ในเครื่องเคราฝั่งเพศเมียของหอยทากจึงมีถุงย่อยน้ำเชื้อ ซึ่งอยู่ก่อนถึงถุงเก็บน้ำเชื้อ นึกออกไหม รวมทั้งความเป็นเพศเมีย
ยังต้องการควบคุมในแง่ที่ว่า อ้าว แล้วถ้าเกิดมันไม่ชอบให้ตัวนี้เป็นพ่อของลูกล่ะ หรือรับน้ำเชื้อตัวนี้มาแล้วอาจจะยอมให้ผสมไข่แค่ครึ่งเดียว แล้ว
ที่เหลือเผื่อไว้ในอนาคตไปเจอตัวอื่นค่อยให้มาผสมอีกครึ่งหนึ่ง ลูกจะได้มีความหลากหลาย อะไรทำนองนี้
ป๋องแป๋ง : คือครั้งเดียวเลยมันเสี่ยง
อาบัน : เหมือนลงทุนก็ต้องมีกระจายความเสี่ยง
แทนไท : อ้า คือความเป็นเพศเมียมันจะมีความช่างเลือกตรงนี้อยู่ มีการอยากจะควบคุมอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้น ร่างกายมันก็เลยมีถุงในการย่อยทำลายสเปิร์มที่รับเข้ามา เหลือเก็บไว้นิดเดียวพอ แล้วพอมันผสมตัวนี้เสร็จเดี๋ยวมันก็จะไปผสมตัวอื่นต่อ คือมีความสำส่อนในหอยอยู่
ป๋องแป๋ง : ครับ
แทนไท : ทีนี้ ฝั่งเพศผู้ที่อยากจะครองกรรมสิทธิ์ในการผสมไข่ก็จะไม่แฮปปี้ และเขาค้นพบเบื้องหลังพฤติกรรมการปักศร Love Dart ว่า
สารเคมีที่อยู่ในเมือกที่บรรจุอยู่ในศรนั้นน่ะมันเข้าไปทำให้ไอ้ถุงย่อยสเปิร์มของอีกตัวที่ถูกปักหยุดการทำงาน หมายความว่าตัวผู้ที่ปักศรกามเทพสำเร็จจะทำให้สเปิร์มของมันมีโอกาสเข้าไปถึงไข่มากขึ้น ไม่โดนย่อยทำลายทิ้งไปเยอะ เขาทดลองแล้วปรากฏว่ามีผลเยอะมาก ตัวที่ปักศรสำเร็จมีเปอร์เซ็นต์ความเป็นพ่อของลูกที่เกิดมาดับเบิ้ลเลย เมื่อเทียบกับตัวที่ปักศรไม่สำเร็จ
อาบัน : โอ้ว ตกลงศรมีหน้าที่เป็นอาวุธในการแข่งขันทางเพศ
แทนไท : ใช่ คือเป็นการลดโอกาสของคนอื่น แล้วเพิ่มโอกาสของตัวเองในการเป็นพ่อให้มากที่สุด
อาบัน : อย่างนี้นี่เอง
แทนไท : แล้วฤทธิ์ของมันไม่ได้อยู่ที่ศรนะ แต่อยู่ที่ตัวเมือกซึ่งมีต่อมสร้างพิเศษสำหรับบรรจุในศรอีกที
อาบัน : เหมือนเข็มฉีดยานั่นเอง
แทนไท : ใช่ แล้วเวลาฉีดตัวยาที่อยู่ในเข็มเข้าไประหว่างผสมพันธุ์ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้สเปิร์มมีโอกาสผสมไข่มากขึ้น
ป๋องแป๋ง : น่าสนใจมาก
แทนไท : มีนักวิชาการบางคนบอกด้วยนะว่า ไอ้คอนเซปต์ศรของกามเทพคิวปิดน่ะ ต้นตอจริงๆ เลยอาจจะมาจาก Love Dart ของหอยก็ได้ เพราะมันมีหอยชนิดที่ปักศรแบบนี้อาศัยอยู่ที่กรีกด้วย สมัยโบราณตำนานอาจจะเริ่มจากชาวบ้านกรีกนั่งสังเกตหอยผสมพันธุ์กันหน้าบ้านแล้วแบบว่า เฮ้ย มันจิ้มอะไรกันวะเนี่ย เอามาแต่งเป็นนิทานดีกว่า อันนี้ก็มีคนสันนิษฐานกันไปนะฮะ
ลิงค์งานวิจัยเรื่อง Love Dart –1,2,3,4,5
เมือกหอยไทยกับนวัตกรรมความงาม
แทนไท : เอาล่ะ ดูการปรับตัวของหอยต่างๆ นานามาจนถึงเรื่องเมือกของมันแล้ว หอยทากนี่เป็นผู้ที่ขึ้นมาอยู่บนบก อย่างที่อาบันบอก มันต้อง
มีการชโลมร่างกายให้มีความชื้นตลอดเวลา ดังนั้น มันก็เลยขับเมือกออกมา ไม่ว่าจะเพื่อปกคลุมผิวหนัง หรือเพื่อการเดินการไต่ มันใช้เมือกทั้งนั้นเลย แต่เมือกก็ยังมีอีกหน้าที่หนึ่ง
อ.สมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ The Researcher ซึ่งเป็นรายการแนะนำงานวิจัยของ สกว. เสิร์ชดูกันได้นะฮะ อาจารย์พูดประมาณว่า เฮ้ย เราเคยสังเกตไหมว่าหอยมันเดินตามดินตามสถานที่สกปรกตลอด แต่มันไม่เป็นโรคผิวหนังเลยนะ
อาบัน : เออจริง
แทนไท : เราไม่เคยเห็นหอยขึ้นผื่น หรือขึ้นรา เพราะว่ามีเมือกนี้แหละที่คอยปกป้องมันอยู่
ป๋องแป๋ง : อันนี้จริงเหรอพี่
แทนไท : จริง เขาไปทดสอบคุณสมบัติเมือกหอย ปรากฏว่าเจอฤทธิ์ทั้งต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา สิ่งอันตรายอะไรต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อปกป้องเนื้อหอย
ป๋องแป๋ง: (ตบมือ) เกิดไอเดีย ขออนุญาตประยุกต์ทำสเปรย์เมือกหอย
แทนไท : สเปรย์เลยเหรอครับ
ป๋องแป๋ง : เอาไว้พ่นอาหารที่อยากจะถนอมให้อยู่ได้นานๆ อยากกินแอปเปิ้ล แต่ยังไม่กินวันนี้ ก็ฉีดสเปรย์หอยเป็นเมือกคลุมไปก่อน
อาบัน : เสนอไอเดียมั่ง ทำเป็นสเปรย์นี่แหละ แต่ว่าเอามาฉีดตรงฝาชักโครก เวลาจะนั่งลงก็ฉีด นอกจากจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วยังนุ่มนวลบำรุงผิว
แทนไท : เฮ้ย แต่ตูดมันอาจะลื่นไปจนแบบ…
อาบัน : เออว่ะ
แทนไท : มันอาจจะนั่งแล้วเบี้ยว เบ้ หรือบลุ๊บลงไปจนตูดจุ่มน้ำ… (หัวเราะ) มันจะยิ่งสกปรกกว่าเดิมอีก อันนี้ก็ต้องพัฒนาให้ดีๆ นะครับ
ป๋องแป๋ง : หรือบางทีผมว่าเอามาทำเป็นสเปรย์ฉีดฆ่าเชื้อในปาก หรือล้างลำคอให้สะอาดก็น่าจะโอเคนะ
แทนไท : เรามาดูไอเดียที่ใช้ได้จริงดีกว่าฮะ ก็คือนักวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเขาเล็งเห็นประโยชน์ของเมือกหอยข้อนี้มาสัก
ระยะหนึ่งแล้ว ถึงได้มีผลิตภัณฑ์ออกมาขายเยอะแยะ อย่างช่วงนี้ก็มาจากเกาหลีเป็นหลัก ในไทยก็มียี่ห้อ Snail White เขาโฆษณาว่าอะไรบ้างนะอาบัน
อาบัน : ก็มีบอกว่าตบเด้ง หนืดดึ๋ง
แทนไท : ไอ้นั่นมันโฆษณาแบบให้จำง่าย แต่เราหมายถึงพวกสรรพคุณน่ะ
อาบัน : อ๋อ ถ้าคุณสมบัติก็คือใช้แล้วจะทำให้หน้าชุ่มชื้น มีความยืดหยุ่น แล้วก็ทำให้อ่อนเยาว์ ประมาณนั้นแหละ
แทนไท : ในเรื่องความชุ่มชื้น เราก็เห็นว่ามันมาจากธรรมชาติเลย เพราะอย่างที่บอก หอยมันต้องรักษาความชื้นของผิวใช่มั้ย ตรงจุดนี้เรื่องราวของวิวัฒนาการก็เข้ามาเกี่ยวอีกแล้ว อ.สมศักดิ์ ตั้งคำถามว่า คุณไม่คิดเหรอ ว่าพวกหอยที่เกาหลีใช้น่ะเป็นหอยที่มาจากเขตหนาว… ซึ่งที่จริงเกาหลีไม่ได้เลี้ยงหอยเองหรอกนะ เกาหลีสั่งมาจากโรงงานผลิตหอยที่สเปนอีกทีหนึ่ง
อาบัน : อ้าวเหรอ
ป๋องแป๋ง : (ทำหน้าตกใจ)
แทนไท : อย่าเพิ่งตกใจ เขามีฟาร์มเลี้ยงหอยผลิตเมือกอะไรกันเป็นล่ำเป็นสัน
ป๋องแป๋ง : หา! เพิ่งรู้เนี่ย
อาบัน : เคยอ่านเกี่ยวกับที่เกาหลี คือเราเคยสนใจและอยากรู้ว่าไอ้เมือกหอยทากเนี่ยมันต้องฆ่าหอยทากไหม ในการเก็บมันมาต้องทำอย่างไร เลยไปอ่านเจอว่าเขาไม่ฆ่า เพราะถ้าเลี้ยงหอยตัวหนึ่งทั้งอายุขัยแต่ใช้แค่ครั้งเดียวแล้วฆ่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เพราะฉะนั้น เขาเลยทำเป็นฟาร์ม แล้วฟาร์มที่ว่าเขาจะเลี้ยงตามธรรมชาติ จากนั้นก็นำเข้ามาในห้องผลิตที่มีถาดอยู่ แล้วก็ให้น้องหอยทากเดินๆๆ กุ๊งกิ๊งๆ เดินเยอะๆ หลายๆ ตัว จากนั้นก็จะได้ถาดที่มีเมือกจำนวนมาก แล้วก็พาน้องหอยทากกลับไปเลี้ยงต่อ ไปกินอาหาร แล้วก็พามาเดินอีก ให้เก็บเมือกมาสกัดได้เรื่อยๆ
แทนไท : ใช่ ฟาร์มอย่างที่ อ.สมศักดิ์ ทำก็ประมาณนี้เลย เราดูในวิดีโอ The Researcher เขาปฏิบัติต่อหอยแต่ละตัวดีมาก
อาบัน : คือไม่ทารุณสัตว์
แทนไท : ใช่ เขาเอาหอยชนิดของบ้านเราชื่อ หอยนวล แล้วเอาบางอย่างไปจี้ๆๆ จักจี้หอย
อาบัน : แฮะๆๆ (ทำซาวนด์หอยจักจี้)
แทนไท : แตะๆๆ มันอย่างนี้ แล้วหอยมันจะปล่อยเมือกออกมา การจี้ 1 ครั้งได้เมือกประมาณกี่ซีซีก็ว่าไป เขาก็จะดูดแค่นั้นแหละ จากนั้นก็พา
น้องหอยกลับไปเลี้ยงต่อ ให้มันกินให้อิ่ม เลี้ยงให้อุดมสมบูรณ์ เปิดแอร์เย็นๆ อะไรก็ว่าไปนะ (หัวเราะ) คือให้อยู่อย่างสบาย เสร็จแล้วก็มีหอยที่รอจักจี้แบบนี้เรียงเป็นคิวมาไม่รู้ว่ากี่พันกี่หมื่นตัว ก็เอามาดูดตัวละนิดๆ ในที่สุดมันก็จะได้เมือกเยอะ แล้วค่อยเอาไปผ่านกระบวนการสกัดต่างๆ
อาบัน : ตกลงก็คือถ้าไปจี้น้องหอยแล้วจะมีน้ำเมือกออกมาใช่มั้ย
แทนไท : ใช่ นี่ก็เป็นความรู้ทั่วไปนะฮะ
ป๋องแป๋ง : เป็นความรู้ใหม่พี่ ผมเพิ่งรู้เนี่ย
แทนไท : (หัวเราะ) เอ้า ทีนี้กลับมาตรงที่พี่ค้างไว้ว่าเกาหลีเขาใช้หอยจากสเปน เพราะสเปนอาจจะมีโนว์ฮาวเรื่องการเลี้ยงหอยมาก่อน แต่ก็เป็นหอยเขตหนาว
ป๋องแป๋ง : หอยนอกเลย
แทนไท : ทีนี้ อ.สมศักดิ์ แกเล็งเห็นว่าหอยเขตร้อน หรือโดยเฉพาะเจาะจงว่าหอยเมืองไทย อย่างเช่นหอยนวลมันน่าจะดีกว่าหรือเปล่านะ เพราะว่าเชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย แถวนี้มันเยอะกว่า และหอยท้องถิ่นที่อาศัยอยู่แถวนี้มาเป็นเวลาล้านล้านปีมันมีวิวัฒนาการมาแล้วในแง่ที่เมือกของมันต้องมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อโรคสารพัดชนิด เพราะบ้านเราเชื้อโรคเยอะกว่าเขตหนาวแน่นอน ความสกปรกก็เป็นความสกปรกแบบเขตร้อน
ป๋องแป๋ง : เข้าใจ เฮียพูดมาผมนึกออกเลย ป่าเมืองนอกผมว่าผมลงไปนอนได้ แต่อย่างบ้านเราเนี่ย พื้นเฉยๆ ผมยังไม่อยากนอนเลย
แทนไท : เอ้อ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องเชื้อโรค เรื่องความร้อนอีก แดดบ้านเราก็แรงกว่า ใกล้เส้นศูนย์สูตรกว่า การกรอง UV ของเมือกมันผ่านวิวัฒนาการมาเป็นล้านปีแล้วว่าทำยังไงไม่ให้หอยไหม้และหมองคล้ำ
อาบัน : หูว ตกลงว่ากัน UV ได้ด้วยหรอ
ป๋องแป๋ง : แต่มันก็คล้ำนะพี่
แทนไท : นั่นอาจจะเป็นสีจากอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการโดนแดดเผา
ป๋องแป๋ง : เออว่ะ
แทนไท : สรุป เราลองคิดดูในแง่ของหอยที่ต้องหลบแดด หลบรังสีอันตรายต่างๆ แล้วก็ต่อสู้กับเชื้อโรค แถมยังต้องรักษาความชื้นในสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งอีก… บ้านเราเวลาฝนตกมันก็ตกหนัก แต่มันก็จะมีช่วงที่โคตรร้อน เช่น ช่วงเดือนเมษาฯ ตอนสงกรานต์ ในระหว่างช่วงเหล่านี้เมือกหอยจะต้องทำงานดีมากเพื่อเก็บความชื้น
อาบัน : อืมม ใช่ๆ ฟังดูสมเหตุสมผล
แทนไท : ด้วยแนวคิดนี้ อ.สมศักดิ์ แกจึงลองสกัดดูเลย หอยทากบ้านเราตัวไหนน่าเอามาวิเคราะห์ศึกษาก็ทำเลย ปรากฏว่าเจอตัวเด่นคือหอยนวล ไอ้ตัวนี้ได้เมือกดีที่สุดแล้ว ให้ดูหน้าตามัน เป็นหอยแบบบ้านๆ เลยครับ เหมือนหอยทากธรรมดาเลยแค่ตัวใหญ่หน่อย เปลือกกลมและมีขนาดประมาณถ้วยน้ำจิ้ม
ดร. สมศักดิ์ กับหอยนวล ที่วิจัยแล้วสกัดเมือกได้คุณภาพดีที่สุด ได้รับรางวัลงานวิจัยเด่นของสกว.
อาบัน : เอ้อ ทรงเบสิกเลยนะ เหมือนเวลาเราวาดการ์ตูนหอยทากเลย
แทนไท : ในรูปนี้เป็นหอยนวลกำลังไต่แขน อ.สมศักดิ์ อยู่ แล้วก็นี่อีกรูปหนึ่งที่พาไปออกรายการเฮียสรยุทธ์ ยกไปเป็นตู้เลย
อาบัน : ตัวใหญ่เนาะ ต๊ายตาย เรานึกว่าเวลาจักจี๋จะต้องใช้พวกอุปกรณ์เล็กๆ แต่ถ้าขนาดนี้เอานิ้วจิ้มได้เลย นี่แน่ะๆ
แทนไท : เดี๋ยว เราว่าเขาน่าจะมีอุปกรณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์กว่านั้นเปล่า คงไม่ได้เอานิ้วมาลูบๆ หอยหรอก
ป๋องแป๋ง : แป๊บหนึ่งนะพี่ ผมสังเกตในรูป เนกไท อ.สมศักดิ์ เป็นลายหอยด้วยนะ เฮ้ย เจ๋ง
อาบัน : เออว่ะ พี่ว่าไม่ธรรมดาจริงๆ ด้วย อาจารย์แกต้องหลงใหลหอยมากๆ แน่เลย
แทนไท : สักวันจะต้องหาโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์ออกรายการนะฮะ เอาล่ะ ต่อจากที่เล่ามาก็คือ เขาเอาเมือกหอยของประเทศไทยมาศึกษาวิเคราะห์ว่ามีสารอะไรอยู่บ้าง และปรากฏว่ามีสารสำคัญๆ ทางด้านคอสเมติกอย่างเช่นอีลาสติน (Elastin) เพิ่มความยืดหยุ่น อัลลานโทอิน (Allantoin) กรดไฮยารูโลนิก (Hyaluronic Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) สารแอนตี้ออกซิแดนต์ต่างๆ อยู่เพียบเลย
อาบัน : กรดไฮยาลูโรนิกอาบันรู้จัก เป็นตัวให้ความชุ่มชื้นมากกว่าตัวอื่น ถ้าเอามันไปทาจะทำให้เซลล์ผิวเราอุ้มน้ำได้มากขึ้นหลายเท่าเลย ส่วนกรดไกลโคลิก รู้สึกว่าจะเป็นพวก AHA (Alpha Hydroxy Acid) หรือเปล่า ที่ช่วยในการผลัดผิว
แทนไท : โห คือสารเหล่านี้เป็นตัวสรรพคุณหลักๆ ที่อยู่ในเครื่องสำอางทั้งนั้นเลยใช่ไหม
อาบัน: ใช่ๆ
แทนไท : ฮะ นอกจากพบเจอสารเหล่านี้แล้ว พอสกัดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วนำไปทดสอบคุณภาพ ปรากฏว่าดีกว่าสารสกัดที่ได้จากหอยประเทศอื่นๆ 30 เท่า! 30 เท่าเลยนะ…ซึ่งมันฟังดูเยอะมาก แล้วไม่ใช่แค่เยอะอย่างเดียว มันฟังดูเมกเซนส์ด้วย คือจริงอย่างที่อาจารย์ว่า หอยเขตร้อนมันน่าจะผ่านอะไรมาเยอะ
ป๋องแป๋ง: (หัวเราะเบาๆ)
แทนไท : ทีนี้ก็เลยเกิดเป็นอุตสาหกรรมที่อาจารย์แกผลักดันว่า เฮ้ย เราอย่าเพิ่งไปเห่อของนอกมาก เราควรมาผลิตของไทยที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ทัดเทียม แต่ดีกว่า แล้วเราเป็นฝ่ายส่งออกซะเอง
อาบัน: อื้ม
แทนไท : ตอนนี้ก็เลยมีฟาร์มหอยที่อาจารย์เขาส่งเสริมให้เกิดขึ้นมา ซึ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รู้สึกว่าปีที่แล้วจะประมาณ 200 ล้านมั้งฮะ
อาบัน : คุณพระ!
แทนไท : ฟาร์มหอยนี่ ในรายการ The Researcher เขาพาไปดูนิดหนึ่ง มันก็จะมีส่วนที่เป็นสวนหอย คือเดินเข้าไปแล้วเป็นเหมือนป่าที่เราสร้างจำลองขึ้นมา แต่ในนั้นมีหอยอยู่ทุกตารางนิ้ว
อาบัน : โห ต้องระวังไม่เหยียบสินะ แล้วเขาเลี้ยงแบบเปิดเลยเหรอ
แทนไท : เลี้ยงแบบกึ่งเปิดมั้ง มีล้อมเป็นกรีนเฮาส์ครับ นึกภาพฟาร์มหอยไม่เหมือนฟาร์มไก่นะ ไม่ใช่ว่ามีหอยอยู่ในคอก ตัวหนึ่งคอกหนึ่งอะไรงี้ คือหอยมันเพ่นพ่านอยู่ในป่านั่นแหละ แค่เป็นป่าที่เขาปิดล้อมอยู่ในเรือนกระจกหรือในมุ้งอีกที แล้วก็มีหอยอยู่ในนั้นไม่รู้กี่หมื่นกี่พันตัว
อาบัน: น่าสนใจ เดี๋ยวไปดูในวิดีโอต่อดีกว่า
แทนไท : แล้ววิธีสกัดก็อย่างที่เล่า เอาหอยมาเขี่ย มาจี๋ แล้วสกัดเมือกแบบครบวงจร คือในที่เดียวกันมีฟาร์มอยู่ จากฟาร์มปุ๊บก็เข้าโรงงานผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมเคมี ต่อเนื่องอยู่ตรงนั้นเลย ได้เป็นโปรดักต์ที่สามารถจัดส่งออกได้ เครื่องสำอางแบรนด์ไหนอยากจะได้เมือกนี้ก็สั่งมา มีการจดลิขสิทธิ์จดสิทธิบัตรเรียบร้อย
อาบัน : เราได้ลองโปรดักต์ของอาจารย์แล้วด้วยนะ ที่เขาทำมาเป็นตัวทดลองในงาน สกว. เราทาดูก็รู้สึกว่ามันชุ่มชื้นด้วยล่ะ ว่าแต่ตอนนี้มัน
กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออะไรบ้างเหรอ
แทนไท : ถ้าเป็นแบรนด์ที่อาจารย์ทำเองเลย คือไม่ได้ส่งออกเมือกไปให้บริษัทอื่นทำต่อ แต่ทำเป็นเซรั่ม เป็นครีม ของตัวเองเลย ก็จะเป็นแบรนด์ชื่อว่า Siam Snail (ปัจจุบัน พัฒนาเป็น Snail 8 สามารถดูข้อมูลทางเว็บไซต์ www.snail8.com) ปีที่แล้วโครงการนี้เพิ่งได้รางวัลงานวิจัยเด่นจาก สกว. ไป แล้วก็ตอนนี้ (ปี 2016) มีมูลค่า 200 ล้าน แต่อาจารย์บอกว่าจะผลักดันต่อไปให้กลายเป็นธุรกิจพันล้าน
อาบัน : ไปสมัครงานดีกว่า
แทนไท : และนี่แหละครับ คือเรื่องราวการไปสำรวจสิ่งมีชีวิต การพยายามเปิดแต่ละหน้าของหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดแห่งชีวิต ความรู้ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ใบไม้แต่ละใบที่อยู่บนต้นไม้แห่งชีวิต พอพลิกดูแล้วมันมีข้อมูลที่เรานำมาประยุกต์ใช้เกิดประโยชน์ต่อคนได้มากมาย และนี่ก็เป็นตัวอย่างจากงานวิจัยของ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ซึ่งขอเล่าไว้แต่พอสังเขปเพียงเท่านี้ครับ ขอบคุณครับ
ป๋องแป๋งและอาบัน: (ปรบมือ)
…
ความฟินของการศึกษาวิทยาศาสตร์
แทนไท : อาจจะเล่านานกินเวลานิดหนึ่งนะ แต่ก็หวังว่าจะได้ฟังอะไรน่าสนใจ
ป๋องแป๋ง : ฮึ้ย เรื่องนี้ผมชอบมากเลยนะพี่ เพราะเด็กๆ มักมาถามผมว่าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วเอาไปทำอะไร คราวนี้ผมมีตัวอย่างไปตอบแล้ว ธุรกิจหอยนี่ระดับร้อยล้านพันล้านเลยนะ
อาบัน : แต่ดูอาจารย์เขาแฮปปี้กับหอยจริงๆ นะ เอามาวางบนมือบนหน้า คือเหมือนเป็นความภาคภูมิใจ เขาคงไม่ได้คิดในแง่ของธุรกิจเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างเดียว เพราะเท่าที่ฟังแล้วอาจารย์สนใจศึกษาเก็บความรู้หอยสปีชีส์ต่างๆ มานานตั้งเป็นสิบๆ ปี เรื่องเครื่องสำอางเหมือนเป็น By-product หรือสิ่งที่เอามาต่อยอดได้ทีหลังมากกว่า
แทนไท : งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มันมีความฟินได้หลายระดับนะ เอาแค่คนศึกษาได้ออกไปเดินในป่า นึกภาพว่าเหมือนเด็กเริงร่าที่ได้วิ่งไล่จับแมลงแล้วมาดูว่าตัวอะไร เฮ้ย ตัวนี้ไม่เคยเจอเลยว่ะ แค่นี้มันก็เป็นความฟินระดับหนึ่งแล้วนะ พอได้ไปศึกษา ได้ต่อยอดต้นไม้แห่งชีวิต ได้มีส่วนร่วมในการปักใบ ต่อกิ่งให้กับภาพอันยิ่งใหญ่นี้ นี่ก็ฟินอีกระดับหนึ่ง… การได้เข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังวิวัฒนาการว่า อ๋อ ที่มันหน้าตาแบบนี้ ที่มันทำแบบนี้ มีเหตุผลเพราะแบบนี้ เพราะมันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เพราะเงื่อนไขชีวิตมันเป็นแบบนี้ นี่ก็เป็นความฟินจากการได้เข้าใจอะไรบางอย่าง อารมณ์เหมือนตอนที่คุณอาร์คิมีดีสเข้าใจเรื่องแรงลอยตัวแล้วกระโดดยูเรก้าออกมาจากห้องน้ำ… จากนั้น อารมณ์ที่ เฮ้ย มันคลิกในหัวเราว่ามันน่าจะเอามาประยุกต์ทำธุรกิจหรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตคนจำนวนมากได้แบบนี้นะ ก็เป็นความฟินอีกระดับหนึ่ง… ไหนจะความฟินจากการรวบรวมความรู้ที่ได้ให้เป็นกลุ่มก้อน เขียนตำรับตำราไปสอนหนังสือเด็ก เปิดโลกสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ นั่นก็ฟินอีก… ผมว่ามันมีความฟินสารพัดด้านที่ต่อเนื่องไปได้ไม่รู้จบจริงๆ ครับ สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์
…
ภาพร่างไอเดีย Tree of Life ที่อยู่ในสมุดโน้ตของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน